เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม



     สืบเนื่องจากโอวาทของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ที่ให้ไว้กับคณะกรรมการ SVN เมื่อครั้งไปรายงานการดำเนินงานประจำปี 2551ว่า “SVN ควรหาโอกาสเข้าไปเรียนรู้จากชุมชน” ประจวบเหมาะกับคำเชื้อเชิญของคุณ สมลักษณ์ หุตานุวัตร เลขาธิการ SVN ที่ได้เข้าไปฝังตัวทำงานร่วมกับชุมชนในจังหวัดตราดมานานหลายเดือน “SVN Visit ครั้งที่ 2/2552” จึงได้เดินทางไปยังจังหวัดตราด ดินแดนสุดขอบประเทศไทยฝั่งตะวันออก ในระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกร่วมเดินทางเกือบ 20 ท่าน นับเป็นโอกาสดีที่หายากยิ่ง ในการได้เข้าไปสัมผัสวิถีชุมชนที่แท้จริง และเรียนรู้กระบวนการจัดสรรทรัพยากรอย่างยั่งยืนของชุมชน แบบชุมชน เพื่อชุมชนและสังคมกว่า 5 ชั่วโมงของการเดินทางจากกรุงเทพฯ คณะSVNได้หยุดพักจุดแรกที่ อบต. ช้างทูน อ.บ่อไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เหมืองพลอยเก่า เพื่อรับประทานอาหารกลางวันมื้อแรกจากฝีมือแม่บ้านในชุมชน ก่อนเริ่มกิจกรรมแรกอย่างเป็นทางการด้วยการเยี่ยมชมสวนผลไม้ปลอดสารเคมี ในสวนเกษตรอินทรย์แบบผสมผสาน ของลุงแป๊ะ ชาวสวนท้องถิ่นที่ไม่ธรรมดา คณะ SVN ได้มีโอกาสเดินเก็บผลไม้กินจากต้น สดยิ่งกว่าการซื้อกินในห้างไหนๆ ที่สำคัญผลไม้ของลุงแป๊ะนั้น แม้ในหน้านี้จะมีทั้งเงาะ มังคุด ทุเรียน ลองกอง แต่เนื่องจากความสด และปลอดสารพิษ จึงมีพ่อค้าจากเวียดนามให้ราคาดีและมารับถึงที่เสมอ น่าเสียดายที่คนไทยเอง ถ้าไม่มาที่สวน คงไม่ได้กินผลไม้อร่อยอย่างนี้เป็นที่รู้กันว่าช่วงก่อนหน้านี้ในตราด ฝนตกเป็นประจำทุกวัน แต่นับเป็นโชคดีของคณะ SVN ที่ตลอดระยะเวลาที่เราเดินทางเยี่ยมตราดนั้น แทบไม่มีฝนตกลงมาทั้งก่อนหน้าและระหว่างที่เราอยู่ที่นั่น ทำให้เราได้มีโอกาสได้เดินป่าระยะสั้นๆ ที่ป่าชุมชนเขาถ้ำ บ้านหนองแสง ต.ด่านชุมพล ซึ่งได้ผู้นำคือ คุณ วิเชียร และคุณลิขิต สองผู้นำชุมชนที่เป็นแกนหลักในการริเริ่มอนุรักษ์ป่าผืนนี้ ตั้งแต่ตอนแรกที่คนในชุมชนเองก็ไม่เชื่อใจ จนกลายเป็นป่าที่ได้ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ได้ แม้จะอยู่ห่างจากถนนเพียงไม่ถึงหนึ่งกิโล เรียกได้ว่าเดินป่าเพียงสี่สิบนาที ก็ทำให้ร่างกายเราเผาผลาญ พร้อมที่จะกินอาหารเย็นกันได้เลยทีเดียว
     ในช่วงเย็นหลังจากได้เข้าที่พัก “บ้านริมน้ำ” รีสอร์ตเปิดใหม่ติดคลองบางพระ เราจึงได้ออกจากที่พักเพื่อไปรับประทานอาหารเย็นซึ่งเตรียมรอเราอยู่ที่วัดไผ่ล้อม ซึ่งห่างออกไปเพียง 5 นาทีจากที่พัก ก่อนจะเข้านมัสการพระอาจารย์สุบิน ปณีโต แห่งวัดไผ่ล้อมและกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านของจังหวัดตราด ซึ่งได้ร่วมบริหารจัดการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ที่เกิดขึ้นเมื่อกว่ายี่สิบปีก่อน จนพัฒนาจากเงินออมหลักร้อย กลายเป็นกองทุนหลักพันล้านของชุมชนจังหวัดตราด พระอาจารย์สุบิน ปณีโต ซึ่งได้รับรางวัล SVN Award เชิดชูเป็นกรณีพิเศษในปี 2551 ที่ผ่านมา ได้เล่าถึงจุดกำเนินของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 ซึ่งเกิดขึ้นโดยยึดหลักธรรมในพระพุทธศาสนา การดำเนินการใดๆนั้น ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิต หรือการทำกิจการใดๆนั้นต้องยึดอิงหลักธรรมชาติ วงจรการหมุนเวียนเงินของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์จึงเน้นการพึ่งพิงตนเอง และใช้กระบวนการทางสังคมเป็นเครื่องมือกำกับ ผู้คนในชุมชนกู้ยืมเงินจากส่วนกลางโดยใช้ความดี สัจจะและศักดิ์ศรีที่สร้างสมไว้จนเป็นที่ประจักษ์ในชุมชนเป็นตัวค้ำประกันการกู้ยืมของตนเอง มีระบบการบริหารจัดการที่ไม่ตายตัว ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามสภาพสังคมที่เปลี่ยน แปลงไปอยู่เสมอ เช้าวันที่สองเราตื่นขึ้นมาพร้อมกลิ่นกาแฟดิโอโร่สำเร็จรูปที่มาเสิร์ฟตลอดการเดินทางครั้งนี้ (โดยความอนุเคราะห์จากคุณ วีระเดช, บริษัท VPP Progressive) เราเริ่มกิจกรรมวันที่สองด้วยการเยี่ยมศึกษาดูป่าชายเลนที่บ้านเปร็ดใน ต.ห้วงน้ำขาว ป่าชายเลนที่สมบูรณ์และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ คุณบุญพิน ศิลาลอย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง หนึ่งในผู้ต่อสู้ปกป้องป่าผืนนี้เป็นผู้บรรยายให้เราฟังว่า หลังจากที่ธุรกิจนากุ้งได้ทำลายระบบนิเวศของป่าชายเลนเสียหายไปอย่างมากในตอนต้น ชาวชุมชนได้ร่วมกันฟื้นฟูและดูแลป่าชายเลนที่เป็นแหล่งอาหารและการทำมาหากินของชุมชนซึ่งมีพื้นที่กว่า 12,000 ไร่ด้วยตนเอง ต่อสู้กับกลุ่มนายทุนและผู้มีอิททธิพลจากต่างพื้นที่ ซึ่งต้องการตัดไม้ป่าชายเลนเพื่อทำ”ฟืน”อย่างเอาชีวิตเข้าแลก ถึงขึ้นต้องจับอาวุธด้วยมือตนเอง เฝ้าระวังป่าด้วยยุทธวิธีที่แทบจะเรียกว่ากองโจร แต่สุดท้ายก็สามารถเอาชนะได้โดยไม่มีความรุนแรงด้วยการทำสงครามทางด้านสื่อสารมวลชน กระทั่งได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ในปีพ.ศ. 2542
     ปัจจุบันป่าชายเลนของบ้านเปร็ดในเป็นแหล่งอาหารและวัตถุดิบทางเศรษฐกิจที่สำคัญของชุมชน เป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่อุดมสมบุรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ปูดำที่เราใช้ในการทำอาหาร(โดยเฉพาะส้มตำ)ล้วนมาจากป่าชายเลนแห่งนี้ ชาวบ้านรู้ดีว่าป่าชายเลนเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ จึงร่วมกันดูแลรักษาจน และในแต่ละปี จะมีช่วงห้ามจับสัตว์น้ำ ซึ่งจะเป็นฤดูวางไข่ของปูดำ ตามสโลแกนว่า “หยุดเก็บร้อย รอเก็บล้าน” แถมยังทิ้งท้ายว่า พวกเขาไม่ปิดกั้นหากใครจะเข้ามาจับสัตว์น้ำหรือปูที่นี่ แต่ย้ำว่าต้องทำตามกฏระเบียบของชุมชนอย่างเคร่งครัด
     ก่อนรับประทานอาหารกลางวันริมทะเลบ้านเปร็ดใน เราได้เข้าเยี่ยมชมฟาร์มปูนิ่มท้องถิ่น และคุณมารศรี พูลเกษม รองนายก อบต.ห้วงน้ำขาว ก็ได้บรรยายให้เราฟังเรื่องกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ตำบลห้วงน้ำขาว ซึ่งเป็นรูปแบบของธนาคารชุมชนอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ของพระสุบิน แต่แตกต่างที่เน้นให้กู้ยืมเพื่อเพิ่มการผลิต มีการนำเงินไปลงทุน มีกรอบการฝากเงินประจำทุกเดือนและการปันผลที่ชัดเจน อีกทั้งเป็นระบบปิดสำหรับเฉพาะคนในชุมชนเท่านั้น ที่จะสามารถเข้าร่วมกลุ่มได้สิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดจากการศึกษากลุ่มออมทรัพย์ทั้งสองกลุ่มนี้ ทำให้เห็นว่า ชุมชนมีศักยภาพที่สามารถบริหารจัดการการเงินของตนเองได้อย่างน่าทึ่ง โดยทั้งสองกลุ่มนี้ เน้นใช้ความสัมพันธ์ทางสังคมของชุมชนเป็นเครื่องมือและให้ความสำคัญอย่างมากกับชื่อเสียงและความโปร่งใสของผู้เข้ามาบริหารจัดการกลุ่ม
     ภายหลังจากกินปูนิ่มและอาหารทะเลจนอิ่มท้องแล้ว คณะSVNออกเดินทางอีกครั้งเพื่อขึ้นเรือเฟอรี่ข้ามฝั่งไปยังเกาะช้างเพื่อเข้าพักแรมที่ สลักเพชร รีสอร์ท แต่ก่อนที่เราจะเข้าที่พัก ยังมีชุมชนสุดท้ายที่เราได้เข้าไปพบเจอ เราตรงไปยังวัดสลักเพชร ซึ่งกำลังมีเวทีรับฟังความคิดเห็นชุมชน ซึ่งนำกระบวนการโดยคุณสมลักษณ์ คณะ SVN ได้ร่วมรับฟังชาวบ้านบนพื้นที่เกาะช้างแลกเปลี่ยนกันเรื่องปัญหาต่างๆของชุมชน ทั้งเรื่องการจัดการขยะของเกาะ ปัญหาที่ดินบนเกาะช้างซึ่งกำลังโดนกว้านซื้อและออกโฉนดอย่างน่าสงสัยของหน่วยงานรัฐ และการรุกเข้าของกลุ่มทุน ที่ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของเกาะช้างไปจากอดีต ไปจนถึงประเด็นร้อนๆที่เราอาจไม่เคยได้ยินว่า อนุสรณ์สถานยุทธนาวี ที่ด้านใต้ของเกาะช้าง ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงวีรบุรุษของกองทัพเรือซึ่งเสียชีวิตจากการต่อสู้กับกองทัพเรือฝรั่งเศษเพื่อปกป้องดินแดนของไทยไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 ได้ถูกทุบทำลายลงโดยฝีมือของกลุ่มทุนบางกลุ่ม ที่ได้ออกโฉนดพื้นที่บริเวณนั้น และเกิดเป็นข้อต่อสู้กันกับชาวบ้านเกาะช้าง จนสุดท้าย โฉนดที่ดินนั้น ก็ได้ถูกเพิกถอนไป แต่ทิ้งไว้เป็นคำถามว่าปัญหาที่ดินของเกาะช้างจะเป็นอย่างไรต่อไป
     หลังจากเวทีรับฟังความคิดเห็นชุมชนได้สิ้นสุดลง คณะ SVN จึงได้เดินทางเข้าที่พักริมทะเล พักผ่อนตามอัธยาศัย ทานอาหารทะเลมื้อใหญ่เป็นการพักผ่อนจากการได้ศึกษาชุมชนมาตลอดเวลา สองวันที่ผ่านมา ทั้งเรื่องกลุ่มออมทรัพย์ การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ไปจนถึงการต่อสู้ของชาวบ้านเรื่องที่ดินและปัญหาชุมชนต่างๆ เสียงสะท้อนของผู้เข้าร่วมที่สรุปการเดินทางนี้ร่วมกัน ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า โอกาสในการเข้าถึงชุมชนท้องถิ่นแบบนี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีผู้พาเข้ามาพบเจอ และการจัดการตนเองของชุมชน เป็นสิ่งที่น่าทึ่งและน่าศึกษาอย่างมาก ต้องขอบคุณคุณสมลักษณ์ เลขาธิการSVN ที่จัดการวางแผนการเดินทางครั้งนี้ร่วมกับผู้นำชุมชนอย่างละเอียด คุณวีระเดช ที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักและทีมงาน SVN ที่ทำให้การเดินทางครั้งนี้ ทั้งสนุก ได้ความรู้ ประสบการณ์และอิ่มอร่อยตลอดการเดินทางจริงๆ