เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม




     บรรยากาศในงาน SVN Awards ประจำปี พ.ศ.2551 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อกลางเดือนมีนาคม ของปี พ.ศ. 2552 ที่ สยามสมาคม ถนนอโศก โดยมีคุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มาเป็นประธานมอบรางวัล และอาจารย์ ส. ศิวลักษณ์ มาให้ข้อคิด ที่ผ่านมาก็เช่นกัน แม้ชื่อขององค์กรที่ได้รับรางวัลจะไม่เป็นที่รู้จักผ่านสื่อสารมวลชนมาก่อนมากนัก แต่สำหรับผลงานคุณค่าที่องค์กรได้สร้างขึ้นและได้มีการกล่าวขานในคืนนั้นก็ทำให้ผู้มาร่วมงานประจักษ์ด้วยตนเองว่า รางวัลนี้ SVN Awards สำคัญและมีความหมายเพียงใด
     ในปีนี้ ผู้ร่วมงานต่างบอกว่า SVN จัดงานได้ยิ่งใหญ่กว่าทุกปี โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชน นักธุรกิจ สื่อมวลชน และองค์กรที่ได้รับรางวัลมาร่วมในงานจำนวนมาก ผู้เข้าร่วมงานยังได้มีโอกาสทำความรู้จักกับคณะกรรมการชุดปัจจุบันที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริม CSR ภายใต้ SVN อย่างแข็งขันด้วย
     ในปีนี้มีการมอบรางวัล 4 ประเภท คือ
          1. องค์กรธุรกิจ บริษัทสวิฟท์ จำกัด ผู้ผลิตจำหน่ายและส่งออกผักผลไม้ออแกนิกส์ เนื่องจากมีการบริหารจัดการที่ดี ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรมต่อคู่ค้าและลูกค้า สามารถพัฒนาตนเองพร้อมกับการสร้างความแข็งแกร่งให้กับคู่ค้าสำคัญ คือกลุ่มเกษตรรายย่อยให้มีความสามารถด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีและการตลาด ทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่งผลให้ผลิตผลทางการเกษตรของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ภายใต้ความคิดพื้นฐานที่ฝังรากลึก เข้าสู่กระบวนการดำเนินธุรกิจตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้น ที่เชื่อว่าทุกคนล้วนต้องการได้รับสิ่งที่ดีๆ โดยเฉพาะ อาหารซึ่งจำเป็นต่อร่างกาย ที่จะต้องมีความสะอาด ปลอดภัย ทำให้ บริษัท สวิฟท์ จำกัด เลือกที่จะดำเนินธุรกิจผลิต และจำหน่ายพืชผลเกษตรอินทรีย์ ที่โดยกระบวนการผลิตแล้วไม่สร้างภาระใดๆ ให้กับสิ่งแวดล้อม และมีเป็นอันตรายใด ๆ ต่อทั้งผู้ปลูก ผู้บริโภค ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี การดำเนินธุรกิจอย่างมีความเข้าใจ และมีความรู้จริง บริษัทสวิฟท์ จำกัด สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เปลี่ยนวิธีคิด และแนวทางการดำเนินชีวิต จากการพึ่งพาสารเคมี มาทำการเกษตรอินทรีย์ โดยไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ ในกระบวนการผลิตเลย บริษัทได้ริเริ่มและนำระบบการจัดการห่วงโซ่การผลิต การขนส่ง และการจำหน่ายที่เรียกว่า Supply Chain ที่สามารถย่นระยะเวลาการเดินทางจากไร่สู่ผู้บริโภค ทำให้เกษตรกรไม่ต้องแบกภาระ ในการเดินทางขนส่งผลผลิต ลดการสูญเสียของผลผลิตระหว่างการเดินทาง อีกทั้งยังสามารถจัดส่งผลผลิตถึงผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ทันความต้องการ แนวคิด การบริหารจัดการที่ดี อันเป็นรากฐานที่ทำให้สู่ธุรกิจที่มีความเจริญมั่นคง การดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรมต่อคู่ค้าและลูกค้า สามารถพัฒนาตนเองพร้อมกับการสร้างความแข็งแกร่งให้กับคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรายย่อย และความสามารถด้านบริหารจัดการเทคโนโลยี และการตลาด ที่ทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ ส่งผลให้ผลให้บริษัท ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประเภทส่งเสริมชุมชน เมื่อปี พ.ศ. 2549 ด้วย

          2. องค์กรภาคสังคม เนื่องจากมูลนิธิฮักเมืองน่านเป็นองค์กรที่เป็นแบบอย่างในการดำเนินกิจกรรมทางสังคมเพื่อให้ชาวชุมชนอยู่รวมกันบนฐานของความเมตตา ไม่แบ่งแยกเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจนก่อให้เกิดผู้นำที่หลากหลายเกาะติด พัฒนาพื้นที่เป็นเวลานับสิบปี จนเกิดเป็นชุมชนที่มั่นคงเป็นรากฐานของจังหวัดน่าน
               มูลนิธิฮักเมืองน่านจัดตั้งขึ้นตามวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาคนเมืองน่าน โดยไม่แบ่งแยกเผ่าพันธุ์เชื้อชาติ เพื่อส่งเสริมให้มีการดำรงรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณะประโยชน์และไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
               ซึ่งมูลนิธิฮักเมืองน่านจะสนับสนุนด้านความสัมพันธ์โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ให้รักษาสิ่งแวดล้อม พัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชน จัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน เพื่อเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน นำพิธีทางศาสนามาใช้กับการจัดการสิ่งแวดล้อม เน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชน เพื่อเกิดเครือข่ายการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ฟื้นฟูการจัดการป่าอนุรักษ์และพัฒนางานเกษตร อาชีพ เผยแพร่ศาสนาและจริยธรรม
               ถือได้ว่ามูลนิธิฮักเมืองน่านเป็นองค์กรที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินกิจกรรมทางสังคม เพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกันได้บนรากฐานของความเมตตา โดยไม่แบ่งแยกเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น จนก่อให้เกิดผู้นำที่มีความหลากหลาย เกิดการพัฒนาพื้นที่ของชุมชนเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและมั่นคง เป็นรากฐานที่สำคัญให้กับจังหวัดน่าน

          3. องค์กรเยาวชน
                    SVN Awards 2551 ประเภทรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ ศูนย์ปฏิบัติการแพทย์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
          องค์กรได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ ในปีนี้คือศูนย์ปฏิบัติการแพทย์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มองค์กรการแพทย์จำนวน 9 องค์กร ที่ร่วมเสียสละอย่างกล้าหาญ ในปฏิบัติการที่เป็นจริง ในการรักษาเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ ตลอดระยะเวลา 193 วัน จากเหตุการณ์ทางการเมืองปี พ.ศ. 2551 คือ สภากาชาดไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี กรมแพทย์ทหารอากาศ(โรงพยาบาลภูมิพล) โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และศูนย์ส่งกลับโรงพยาบาลตำรวจ ภาพ หน่วยแพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลต่างๆ กระตือรือร้นช่วยกันพยาบาลรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมประท้วงทางการ เมือง เมื่อปีที่แล้ว ยังตราตรึงอยู่ในห้วงคำนึงของใครต่อใคร โดยเฉพาะคนไข้ทั้งหลาย ที่ต่างซาบซึ้งในน้ำใจอันงดงามของหน่วยแพทย์พยาบาล ที่ร่วมแรงร่วมใจกัน มาช่วยผู้ ชุมนุม ตำรวจและผู้เกี่ยวข้องที่เลือดตกยางออกจากเหตุการณ์ร้ายแรง ทั้งกลางวัน กลางคืน การเสียสละอย่างกล้าหาญในปฎิบัติการเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บตลอดระยะ เวลา 193 วัน โดยไม่เกี่ยงว่าใครจะเป็นฝ่ายไหน แต่เห็นว่าทุกคนเป็นคนไทย หัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาของ คณะแพทย์พยาบาล ทั้ง 9 องค์กรภายใต้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คณะกรรมการ SVNฯ เห็นว่า สมควรได้รับการ ยกย่องให้ได้รับการเชิดชูเกียรติพิเศษ ประจำปี พ.ศ. 2551
               สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง ซึ่ง นพ. สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย คณะกรรมการบริหารสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เล่าถึงหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรนี้ว่าเป็นองค์กรมหาชนในสังกัด ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อดูแลระบบการดูแลผู้ป่วยที่วิกฤติและฉุกเฉินไม่ว่าจะจากอุบัติเหตุใด ๆ หรือจากโรคภัยไข้เจ็บ ขณะนี้ประเทศไทยมีคนตายจากการเสียชีวิตฉุกเฉินปีละประมาณ 60,000 กว่าราย ทั้งจากอุบัติเหตุการขนส่ง จราจรฯลฯ ภารกิจหลักของสถาบัน อันดับแรก ลดการตายฉุกเฉินให้มีโอกาสรอดมากที่สุด ซึ่ง การทำงานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ไม่มีวันเวลาทำงานแน่นอน เพราะไม่รู้ว่าอุบัติเหตุหรือชาวบ้านจะได้รับการบาดเจ็บหนักหนาสาหัสเมื่อไร โดยผู้ที่จะขอความช่วยเหลือทั้งในยามปกติและยามมีอุบัติภัยสามารถโทรเข้ามา ได้ที่เบอร์ 1669
               กรมแพทย์ทหารอากาศ เป็นหนึ่งในองค์กรแพทย์ ที่ได้รับรางวัลเชิญชูเกียรติพิเศษในครั้งนี้ด้วย โดยพลอากาศโทอภิชาติ โกยสุข เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ ซึ่งให้เกียรติมารับรางวัลครั้งนี้ด้วยตัวเอง กล่าวถึงรางวัล SVN Awards ที่ได้รับว่า “การได้รับรางวัลดังกล่าวนับเป็นเกียรติประวัติของกองทัพอากาศ และกรมแพทย์ทหารอากาศ และเป็นแรงใจให้เราทำสิ่งเหล่านี้ต่อไปเรื่อย ๆ”
          รายชื่อองค์กรที่ได้รับรางวัล
               1. กองพลที่ 1 รักษาพระองค์
               2. โรงพยาบาลรามาธิบดี
               3. สำนักการแพทย์กรุงเทพ
               4. โรงพยาบาลพระมงกุฏ
               5. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
               6. กรมแพทย์ทหารอากาศ
               7. ศูนย์ส่งกลับโรงพยาบาลตำรวจ
               8. โรงพยาบาลศิริราช
               9. สภากาชาดไทย
          SVN Awards 2551 ประเภทรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ พระอาจารย์ สุบิน ปณีโต
               สำหรับรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ ที่ได้มีการพิจารณามอบให้องค์กร หรือบุคคลที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ช่วยเหลือสังคมไทยอย่างโดดเด่น ในปีนี้บุคคลที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษคือ พระอาจารย์ สุบิน ปณีโต รองเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม อ.เมือง จ.ตราด ผู้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ที่นำเอาหลักธรรมเข้ามาพัฒนาชุมชนให้เกิดการออมจนชุมชนสามารถจัดทำบัญชีครัวเรือนและมีเงินทุนหมุนเวียนภายในชุมชน ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
               กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ มีแนวคิดมาจาก พระอาจารย์สุบิน ปณีโต ซึ่งเห็นถึงภาวะความยากจน ปัญหาความขาดแคลน ความแตกแยก การเอารัดเอาเปรียบกันในสังคม สิ่งเหล่านี้ลุกลามจนก่อให้เกิดปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐาน บุกที่สาธารณะ ป่าสงวน เนื่องจากความยากจน คิดจะหาทางช่วย แต่ไม่ใช่วิธีให้เงิน แต่ให้เขาพึ่งพาตนเอง โดยใช้แหล่งทุนของชาวบ้าน พระอาจารย์ทำหน้าที่แนะนำวิธีการ และการดำเนินการเท่านั้น โดยเป็นผู้ร่วมเสนอหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้ พระสุบินได้เริ่มสนับสนุนให้เกิดกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ครั้งแรก 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ที่บ้านเกิดของตนเอง และที่วัดทุ่งเขา ซึ่งเป็นวัดที่จำพรรษา ต่อมามีพระที่เป็นเพื่อนกันไปบอกเข้าคณะภาค เจ้าคณะภาคจึงได้เรียกพระสุบินพร้อมกับเจ้าคณะอำเภอและจังหวัดไปสอบถาม เนื่องจากเห็นเป็นเรื่องการเงินการทอง พระสุบินได้บอกเล่าถึงแนวคิด และรูปธรรมของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ให้ทราบ เจ้าคณะภาคพร้อมกับเข้าคณะจังหวัด และอำเภอเห็นว่าแนวทางดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างมาก จึงได้สนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ และการขยายเครือข่ายกับวัดต่างๆ
          กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์มีเป้าหมายคือ
               1. การแก้ปัญหาความยากจน หนี้สิน ที่จะลุกลามไปสู่ปัญหาสังคมด้านอื่นๆ ซึ่งพระสุบินเล็งเห็นแล้วว่าการพัฒนาแบบพึ่งพารัฐ ไม่มีทางเป็นไปได้ ชาวบ้านต้องมีเงินออมของตน มีความประหยัด ซื่อสัตย์ จึงจะบรรลุเป้าหมาย
               2. ให้ชุมชนรู้จักการพึ่งตนเองในทุกๆ ด้านเป็นที่ตั้ง ทั้งด้านทุน การจัดการ ดังเห็นได้จากคำเทศน์ ที่ตอกย้ำชุมชนอยู่เสมอ “อัตตาหิอัตโนนาโถ”
               3. การแก้ปัญหาความแตกร้าว การทะเลาะเบาะแว้งของคนในชุมชน ให้หวนกลับมาสู่ความสามัคคี สมานฉันท์ ให้จิตวิญญาณความเป็นชุมชนหวนกลับมา ปณิธานดังกล่าวเกิดขึ้น ตั้งแต่พระสุบินธุดงค์ไปที่ภาคใต้
               4. การสร้างพลังต่อรองให้แก่ชุมชน ให้หลุดรอดพ้นจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ จากพ่อค้า นายทุน โดยอาศัยพลังของชุมชนในการจัดการทุน ธุรกิจชุมชน
               5. การสร้างความภาคภูมิใจ ความมีศักดิ์ศรีให้หวนคืนสู่ชุมชน ชาวชนบทสามารถเคียงบ่าเคียงไหล่ กับคนชั้นกลาง ข้าราชการ และธุรกิจอย่างมีศักดิ์ศรีได้และ
               6. ให้คุณธรรม ความรัก และการปฏิบัติธรรมตามคำสอนพุทธศาสนา กลับมาสู่ใจของชุมชน

     4. ประเภทเชิดชูเกียรติพิเศษ
          กลุ่มเยาวชนอาสาสมัครผู้ช่วยทนาย เป็นกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความกระตือรือร้น มีพลังสร้างสรรค์และเป็นกำลังสำคัญของกลุ่มทนายมุสลิม ที่มุ่งเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิ กฎหมาย และให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันนำไปสู่ความรักและความเข้าใจต่อกันซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของการเกิดสันติธรรม
          กลุ่มอาสาสมัครผู้ช่วยทนายเป็นการร่วมตัวกันของกลุ่มเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเยาวชนหนุ่มสาวที่มาฝึกหัดและช่วยเหลือคนที่ต้องการความยุติธรรมและการต่อสู้ทางกฎหมาย และได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ทนายความมุสลิมให้พลังเยาวชนกลุ่มได้มีโอกาสได้ใช้ศักยภาพที่สร้างสรรค์ และเป็นพลังที่สำคัญในการต่อสู้ด้านกฎหมาย และ สิทธิมนุษยชนของชุมชนชาวมุสลิม โดยเข้ามาช่วยเหลือการทำงานของทนายความ แนวทางการดำเนินงานของกลุ่มอาสาสมัครผู้ช่วยทนายจะใช้ภาษามลายูถิ่น ซึ่งเป็นภาษาที่คนในพื้นที่ใช้เพื่อการสื่อสารได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดความเชื่อใจต่อกันและเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำมาใช้ในการช่วยเหลือทางคดี โดยการประสานงานร่วมกับคนในพื้นที่เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นจะเข้าไปให้คำแนะนำการเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในชุมชน การร้องเรียนขอความเป็นธรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการรณรงค์เชิงนโยบายร่วมกับองค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ร้องเรียนในกรณีฉุกเฉินและเร่งด่วนจากเหตุการณ์หลายๆ กรณี เช่น กรณีชุมนุมประท้วงที่มีการกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีประชาชนถูกควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นต้น การทำงานของอาสาสมัครกลุ่มนี้มีการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนและของคนในพื้นที่เพื่อสร้างความรักและความเข้าใจต่อกัน